วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ศิลปะลายไทย

ลายไทย
        ศิลปไทย เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทยเรา ศิลปไทยได้มีการสืบทอดมาแต่โบราณกาลแล้ว เป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยเราที่มีศิลปะประจำชาติที่งดงามซึ่งนับวันมีแต่จะเลือนหายไป
        ศิลปไทย มีให้เห็นในงานหลายประเภท เช่น งานจิตรกรรมไทย งานลายรดน้ำ งานสถาปัตยกรรม เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย ลายปูนปั้น งานรัก งานถม งานแกะ งานปั้น เป็นต้น   ในแต่ละประเภทจะมีช่างที่ชำนาญเฉพาะด้านซึ่งเรารวมเรียกว่า "ช่างสิบหมู่"
        ศิลปไทย  ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด จะต้องเริ่มที่การเขียนลายก่อนเป็นลำดับแรก ฉะนั้นการฝึกหัดเขียนลายไทยเป็นพื้นหลังที่สำคัญ ต้องมีใจรักและมีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อเขียนจนเกิดความชำนาญและสามมารถผูกลายได้แล้วก็นำไปสร้างสรรค์งานศิลปไทยแขนงอื่นๆได้
        ปัจจุบันนี้ ผู้คนได้ให้ความสนใจในแบบอย่างศิลปะตะวันตกมากขึ้นทำให้ศิลปะไทยขาดช่วงหายไป    ไม่มีการพัฒนาการที่ต่อเนื่อง  ดังนั้นการฝึกสอนการเขียนลายไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เยาวชนคนไทยรุ่นใหม่ที่สนใจในศิลปไทย ได้ศึกษา เรียนรู้ สร้างสรรค์และประยุกต์งานศิลป์  สืบทอดและสานต่อความเป็นไทยให้คงอยู่ตลอดไป
                                                                                                                        บุญทอง  อิ่มลาภผล
            ศิลปไทย เป็นศิลปะที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย  ที่มีมาแต่โบราณกาลได้มีการพัฒนาการและสืบทอดมาจนปัจจุบันนี้  ศิลปไทยอันวิจิตรงดงาม เกิดจากภูมิปัญญาและฝีมือของช่างศิลป์ไทย โดยได้รับความบันดาลใจจากรูปทรงธรรมชาติ จากพืช  พันธุ์ข้าว สรรพสัตว์ และสิ่งที่ปรากฏตามธรรมชาติ ได้แก่ดอกไม้ ตาไม้ เถาวัลย์ กอไผ่ เปลวไฟ มนุษย์และสัตว์ นำมาประดิษฐ์ดัดแปลงให้เป็นลวดลายต่างๆ เหล่านี้เราเรียกว่า "ลายไทย"
          การศึกษาศิลปไทยทุกแขนง จะต้องเริ่มที่การเขียนลายก่อน เมื่อเขียนจนชำนาญและสามารถผูกเป็นลายแล้ว สามารถนำไปสร้างสรรค์ศิลปไทยแขนงอื่นๆ เช่น งานรัก งานถม งานแกะ งานปั้น เป็นต้น ฉะนั้นการฝึกหัดเขียนลายเป็ฯพื้นฐานที่สำคัญ และต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง การฝึกก็ต้องเริ่มจากลายที่ง่ายก่อน  และต้องฝึกเขียนซ้ำๆหลายๆ เที่ยวจนเกิดความชำนาญและแม่นยำ
            ลายไทยในสมัยโบราณ แบ่งออกเป็น 4หมวด ได้แก่
            1. หมวดกระหนก  หมายถึง  การเขียนลวดลายไทยต่างๆ เช่น กระหนกสามตัว กระหนกใบเทศ กระจังตาอ้อย ประจำยาง เป็นต้น
            2. หมวดนารี  หมายถึง  การเขียนภาพคน เช่น ภาพพระ ภาพนาง ภาพเทวดา เป็นต้น ซึ่งต้องฝึกเขียนรูปร่าง ใบหน้า และกิริยาท่าทางต่างๆของคน รวมถึงภาพจับ
            3.หมวดกระบี่  หมายถึง  การเขียนภาพลิง ภาพยักษ์ อสูร และพวกอมนุษย์ต่างๆโดยมากจะยึดเอายักษ์ และลิงที่เป็นตัวเอกในเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก
            4.หมวดคชะ  หมายถึง  การเขียนภาพสัตว์ต่างๆ ได้แก่ สัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เสือ สิงห์ กระทิง แรด เป็นต้น และสัตว์ในวรรณคดีที่เกิดจากจินตนาการของช่างเขียนหรือเราเรียกว่า สัตว์หิมพานต์ มีรูปร่างประหลาด เช่น ราชสีห์ คชสีห์ กินรี ครุฑ หงส์ เป็นต้น
            การเขียนลายไทยนั้นต้องฝึกการเคลื่อนไหวของมือ การฝึกเขียนเส้นให้มีความลื่นไหล อ่อนช้อยมีลีลาและจังหวะที่สอดรับสัมพันธ์กันอย่างลงตัว ควรคำนึงถึงช่องไฟของลายการล้อของลาย และควรที่จะฝึกเขียนมากสักหน่อย เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการเขียนลายไทยต่อๆไป....
ข้อมูลจากแบบฝึกหัดเขียนลายไทยเล่ม3 เขียนโดย บุญทอง อิ่มลาภผล





                                                  
ภาพและบทข้อความ จาก http://www.google.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น